top of page

การตรวจสอบการทำงานของไต

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ไตในร่างกายเราจะมี 2 ข้างวางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน โดยตั้งอยู่บริเวณด้านหลังใต้ต่อกระดูกชายโครง บริเวณเอว มีหน้าที่สำคัญในการขับของเสีย และควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล เปรียบเสมือนเครื่องกรองชนิดพิเศษที่มีความมหัศจรรย์ และมีความจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตของเรา



ไตจะทำหน้าที่กรองน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ พร้อมกับทำการคัดหลั่งของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งแต่ละวันจะมีปริมาณเลือด 200 หน่วย ผ่านเข้าสู่กระบวนการกรองในเนื้อไต ส่วนหนึ่งถูกขับออกมาเป็นของเสียในรูปน้ำปัสสาวะ 2 หน่วย ลงสู่ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ เพื่อถ่ายปัสสาวะออกนอกร่างกาย นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ ซึ่งสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจะถูกดูดกลับโดยเซลล์ของหน่วยไต เช่น น้ำ ฟอสเฟต โปรตีน แคลเซี่ยม เป็นต้น ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปหน้าที่สำคัญของไตได้ดังนี้

  1. กำจัดของเสียออกจากร่างกายที่เป็นผลมาจากกระบวนการย่อยอาหาร กระบวนการเมตาบอลิสซึม

  2. รักษาสมดุลน้ำของร่างกายถ้าน้ำมีมากเกินความต้องการของร่างกายเช่นดื่มน้ำมากไป ร่างกายจำเป็นต้องขับออก แต่หากอยู่ในภาวะขาดน้ำเช่นท้องร่วง อาเจียน เสียเหงื่อ หรือมีเลือดออกมาก ไตจะพยายามสงวนน้ำไว้ให้ร่างกายโดยการดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ปัสสาวะจะมีปริมาณน้อย และเข้มข้น

  3. รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย ไตที่ทำงานได้ตามปกติจะสามารถขับเกลือส่วนเกินได้ แม้จะรับประทานรสเค็มจัด แต่หากไตเสื่อมภาพทำให้ไม่สามารถขับเกลือส่วนเกิน ผู้ป่วยจะมีอาการบวมหากรับประทานเกลือมากเกินไป และอาจจะเกิดน้ำท่วมปอด

  4. รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ร่างกายของเราจะมีการผลิตกรดทุกวัน จากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน หากไตทำหน้าที่ได้ตามปกติจะไม่เกิดภาวะกรดคั่งในร่างกาย แต่ถ้าไตมีความผิดปกติ ร่างกายจะมีปัสสาวะเป็นกรด ภาวะการคั่งของกรดจะทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และหายใจหอบ

  5. ควบคุมความดันโลหิต โดยความดันโลหิตสูงเกิดจากความผิดปกติในการควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ รวมถึงสารบางชนิด ผู้ป่วยโรคไต จึงมักมีความดันโลหิตสูง เพราะไตถูกกระตุ้นให้สร้างสารที่ทำให้ความดันสูง ถ้าความดันโลหิตสูงมากทำให้หัวใจทำงานหนัก หรืออาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตก เป็นอัมพฤกษ และอัมพาตได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของไตได้แก่การตรวจวัดปริมาณ BUN (Blood Urea Nitrogen) การตรวจ Creatinine , BUN / Creatinine Ratio , Creatinine clearance และ eGFR จากเลือด เรามาทำความรู้จักการตรวจทั้ง 5 รายการนี้กันดีกว่า



BUN (Blood Urea Nitrogen) หมายถึงการตรวจวัดปริมาณไนโตรเจนจากสารยูเรีย (Urea) ที่อยู่ในกระแสเลือด ซึ่งสารยูเรียเป็นผลผลิตมาจากกระบวนการย่อยโปรตีนจากอาหารโดยตับ ซึ่งในขั้นแรกสารดังกล่าวจะอยู่ในรูปของแอมโมเนีย (NH3) จากนั้นจึงแปรสภาพไปเป็นยูเรียเพื่อให้ไตสามารถขับออกไปทางปัสสาวะ (Urine) หากพบว่าไตมีความผิดปกติ จะเหลือสารยูเรียและไนโตรเจนคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด เมื่อตรวจวัดค่า BUN จะพบว่ามีระดับที่สูงกว่าปกติ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปใช้เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวเช่น การกินอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไป มีการเกิดโรคในไตโดยตรง จากการกินยาบางตัวเป็นระยะเวลานานเกินไป การดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน ภาวการณ์ตกเลือดในทางเดินอาหาร การออกกำลังกายหักโหมเกินไป เป็นต้น

ค่าปกติของการตรวจ BUN โดยทั่วไปค่าปกติทั่วไปจะอยู่ประมาณ

ผู้ใหญ่ : 10 – 20 mg/dL

เด็ก : 5 – 18 mg/dL

ค่าผิดปกติส่วนใหญ่จะดูไปในทางมาก ซึ่งค่าที่สูงกว่าค่าปกติอาจบ่งบอกถึง

  1. อาจกินอาหารประเภทโปรตีนปริมาณมากเกินไป

  2. อาจมีภาวะโรคเกี่ยวกับไต ทำให้ไตไม่สามารถขับยูเรียไนโตรเจน (Urea nitrogen) ออกทางปัสสาวะได้ เกิดการคั่งค้างอยู่ในเลือด

  3. อาจเกิดจากการกินยาบางชนิดมากเกินไป

  4. อาจจะดื่มน้ำน้อยเกินไป

  5. ตับอ่อนอาจหลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารบกพร่อง ทำให้เหลือของเสียใน และยูเรียไนโตรเจนมากกว่าปกติ

  6. อาจเกิดจากภาวะช็อกจากความดันโลหิตต่ำจนเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อตรวจพบ BUN มีค่าสูงผิดปกติ

  1. หาสาเหตุที่ทำให้ค่า BUN สูง และหาทางแก้ไข (ในกรณีที่แก้ได้) เช่น ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ฯลฯ แต่หากแก้ไขเบื้องต้นแล้วค่า BUN ยังสูงอยู่ก็ควรปรึกษาแพทย์

  2. ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไต

  3. หากมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต ควรรักษาและติดตามหรือควบคุมโรคให้ดี

  4. แจ้งแพทย์เสมอหากคุณกำลังใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริมหรือวิตามินใดๆ อยู่ เพื่อที่แพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสาเหตุและหาทางแก้ไขหรือรักษาให้เหมาะสมต่อไป

คำแนะนำก่อนตรวจ BUN

  1. ต้องงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ

  2. ก่อนเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่า BUN ผู้เข้ารับการตรวจควรงดเว้น หรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดงให้น้อยลง มิฉะนั้น อาจทำให้ค่า BUN สูงมากขึ้นจากปกติได้

  3. การตรวจอื่นที่อาจช่วยยืนยันความร้ายแรงต่อสุขภาพไตได้ คือ ค่า Creatinine, ค่า Creatinine clearance (เป็นการตรวจพิเศษที่ไม่อยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพทั่วไป) และค่าอัตราส่วนระหว่าง BUN ต่อ Creatinine ด้วยเหตุนี้ ในการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของไต แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจหาค่า Creatinine ไปพร้อมกับ BUN ในคราวเดียวกันด้วยเสมอทุกครั้งไป

Creatinine หรือ Creatinine phosphate คือสารของเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้ามเนื้อของตนเองในชีวิตประจำวัน แล้วร่างกายจะใช้วิธีการแตกตัว Creatine เป็นสารตัวใหม่ คือ Creatinine (ครีเอตินีน) ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่สามารถลอยได้ในกระแสเลือด เมื่อเลือดไหลเวียนผ่านไปที่ไตเมื่อใดก็จะทำให้ไตกรอง Creatinine เกือบทั้งหมดออกไปนอกร่างกายทางปัสสาวะ (ด้วยเหตุนี้ ค่า Creatinine จึงมักจะไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละวัน และในแต่ละบุคคล โดยไตจะทำหน้าที่กรอง และขับทิ้งออกไปทางปัสสาวะ) การตรวจปริมาณ Creatinine จึงเป็นสิ่งช่วยบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานของไต หากมีค่าสูงแสดงถึงเหตุผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับไต


ค่าปกติของ Creatinine ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในผู้ชาย คือ 0.6 - 1.2 mg/dL

  • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในผู้หญิง คือ 0.5 - 1.1 mg/dL (ผู้หญิงจะมีค่าน้อยกว่า ผู้ชาย เนื่องจากมีกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย)

  • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในวัยรุ่น คือ 0.5 - 1.0 mg/dL

  • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในเด็ก คือ 0.3 - 0.7 mg/dL

  • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในทารก (อายุ 1 เดือนขึ้นไป) คือ 0.2 - 0.4 mg/dL

  • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในทารกแรกเกิด คือ 0.3 - 1.2 mg/dL

  • ค่าวิกฤติของ Creatinine คือ > 4.0 mg/dL

ค่า Creatinine ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า

  1. อาจมีเหตุสำคัญหรือโรคร้ายแรงภายในไต หรือเกิดขึ้นที่ไตโดยตรง

  2. อาจมีเหตุสำคัญหรือโรคร้ายแรงจากที่อื่น แต่มีผลกระทบต่อเนื่องมาที่ไตและทำให้ไตเสียหาย เช่น การติดเชื้อจากจุลชีพก่อโรคบางชนิด, การเกิดอาการช็อกจากสาเหตุต่างๆ , การเกิดโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ, การเกิดสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เลือดไหลผ่านไตมาด้วยปริมาณที่น้อยกว่าปกติมาก

  3. ท่อปัสสาวะอาจถูกปิดกั้น เช่น จากนิ่วในไต

  4. อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้เลือดเข้มข้นมากขึ้น เพราะ Creatinine ในเลือดนั้นนับขนาดกันด้วย มิลลิกรัมต่อปริมาตรเลือด 1 เดซิลิตร

ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนตรวจ Creatinine

  1. ควรงดอาหารประเภทเนื้อ 2-3 วันก่อนการตรวจ Creatinine เพราะการกินอาหารประเภทเนื้อแดงอาจทำให้ค่า Creatinine สูงขึ้นได้เล็กน้อย เพราะเนื้อส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อย่อมจะมี Creatinine phosphate แฝงอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง โดยหากยิ่งทำให้สุกด้วยการใช้ความร้อนนาน ๆ อย่างการตุ๋น ก็จะยิ่งทำให้ Creatinine phosphate จากเนื้อสัตว์ออกมาปนอยู่ในอาหารและเพิ่มค่าให้สูงยิ่งขึ้นมากกว่าปกติ

  2. ยาบางชนิดอาจมีผลต่อ Creatinine ได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนชั่วคราว (ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยาทุกครั้ง) ซึ่งยาดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ยารักษาโรคกระเพาะอาหารโอเมพราโซล (Omeprazole), ยาไตรเมโทพริม (Trimethoprim), ยาที่มีผลต่อการทำงานของไต เช่น เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins), ยาเคมีบำบัด


ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels


BUN / Creatinine Ratio

BUN / Creatinine คือ การคำนวณอัตราส่วนระหว่างค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ต่อ ค่า Creatinine (คำนวณจากค่า BUN หารด้วยค่า Creatinine) ซึ่งได้จากผลการตรวจเลือดในวาระเดียวกัน โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณอัตราส่วนนี้สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคหรือบ่งชี้โรคเกี่ยวกับไตได้ดีพอสมควร

ค่าปกติของ BUN : Creatinine ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • อัตราส่วนปกติทั่วไปของค่า BUN ต่อ Creatinine คือ 10-20 : 1

  • อัตราส่วนปกติทั่วไปของค่า BUN ต่อ Creatinine ในทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 : 1

  • ค่า BUN : Creatinine ที่สูงกว่าปกติ (มากกว่า 20 : 1) อาจแสดงผลได้ว่า

  1. อาจกำลังเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)

  2. อาจกำลังเกิดอาการช็อกหรืออาการขาดน้ำ (Dehydration)

  3. อาจมีนิ่วในไต (Kidney stone) ซึ่งมาปิดกั้นท่อปัสสาวะอยู่

  4. อาจกำลังเกิดการตกเลือดในช่องทางเดินอาหารหรือช่องทางเดินหายใจ หากอัตราส่วนของสองค่านี้สูงจากเกณฑ์ปกติขึ้นไปมากๆ

  5. อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิดที่ทำให้ค่า BUN สูงขึ้น อีกทั้งยาเหล่านั้นก็ยังเป็นยาที่สร้างพิษแก่ไตโดยตรงด้วย (ไม่มากก็น้อย หรือบางตัวก็เป็นพิษกับไตโดยตรง) เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ใช้แก้อาการปวด, ยาแบคซิทราซิน (Bacitracin) หรือนีโอมัยซิน (Neomycin) ที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาเพนิซิลลามีน (Penicillamine) ที่ใช้แก้โรคปวดข้อ ฯลฯ

eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate) เป็นการคำนวณเพื่อประมาณการอัตราการไหลของเลือดที่ผ่านตัวกรองของไตได้กี่มิลลิลิตร (ml) ในช่วงเวลา 1 นาที (min) กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ได้กำหนดให้ใช้ผลการตรวจเลือด eGFR เป็นตัวบ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรคไตดังนี้

ระดับที่ 1 ค่า eGFR ≥ 90 ml/min แปลได้ว่าสุขภาพไตยังดีอยู่

ระดับที่ 2 ค่า eGFR อยู่ระหว่าง 60 – 89 ml/min แปลว่าไตทำหน้าที่ได้ในระดับต่ำกว่าปกติเล็กน้อย

ระดับที่ 3 ค่า eGFR อยู่ระหว่าง 30 – 59 ml/min แปลว่าไตทำหน้าที่ได้ในระดับปานกลาง

ระดับที่ 4 ค่า eGFR อยู่ระหว่าง 15 – 29 ml/min แปลได้ว่าไตมีการสูญเสียหน้าที่ไปอย่างรุนแรง

ระดับที่ 5 ค่า eGFR ≤ 15 ml/min แปลว่าไตได้เข้าสู่ภาวะโรคไตวาย (Kidney failure) ไปแล้ว


การดูแลตนเองหาก GFR มีค่าต่ำ

  1. ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ไตเสื่อมให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

  2. รับประทานอาหารสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ

  3. ใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม และภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร

  4. ปรึกษาแพทย์และตรวจติดตามค่า GFR เป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง


ภาพโดย Belova59 จาก Pixabay

Creatinine clearance

การตรวจค่าสำรองความสามารถของไตที่เหลือในการกำจัด Creatinine หรือ Creatinine clearance คือ การตรวจเพื่อประเมินอัตราการกรองของไตเหมือนการตรวจ eGFR แต่จะเป็นการนำค่า Creatinine ที่ได้จากการเจาะเลือด และค่า Creatinine ที่ได้จากการเก็บปัสสาวะที่เก็บรวบรวมทั้งวันหรือ 24 ชั่วโมง มาประกอบกับการคำนวณในห้องปฏิบัติการ หากพบว่าค่าจากทั้ง 2 แหล่งนี้อยู่ในระดับที่ผิดปกติ (Creatinine ในเลือดสูง แต่ Creatinine ในปัสสาวะต่ำ) ก็ย่อมอาจบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ากำลังเกิดโรคไตขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว จึงทำให้ไตกรองของเสียออกมาไม่ได้ในเกณฑ์ปกติและล้นคับคั่งอยู่ในเลือด


ค่าปกติของ Creatinine clearance ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าปกติของ Creatinine clearance ในผู้ชาย คือ 97 - 137 ml/min หรือ 0.93 - 1.32 ml/sec (หน่วย IU)

  • ค่าปกติของ Creatinine clearance ในผู้หญิง คือ 88 - 128 ml/min หรือ 0.85 - 1.23 ml/sec (หน่วย IU)

ค่า Creatinine clearance ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า

  1. ไตอาจกำลังมีปัญหา โดยอาจเกิดจากเซลล์ไตเสียหายจากโรคไตเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง ไตวาย ไตขาดเลือดมาเลี้ยง

  2. อาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น

  3. อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ

  4. ท่อปัสสาวะอาจมีการอุดตันหรือถูกปิดกั้นจนไหลได้ไม่สะดวก

  5. อาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง

  6. อาจเกิดจากภาวะหัวใจวาย

  7. อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ไซเมทิดีน (Cimetidine), โปรเคนเอไมด์ (Procainamide) ฯลฯ

เรื่องราวการตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการติดตามวินิจฉัยภาวการณ์ทำงานของไตดังกล่าว คงช่วยให้ทุกๆ คนที่ได้อ่านมีความเข้าใจรายการตรวจที่แพทย์ทำการสั่งตรวจมากขึ้น ซึ่งเราสามารถขอผลการตรวจเพื่อนำมาใช้ติดตามภาวะสุขภาพตัวเองได้

2 views0 comments
bottom of page